Vacheron Constantin ก่อตั้งขึ้นในปี 1755 และถือเป็นผู้ผลิตนาฬิกาที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีประวัติศาสตร์การผลิตมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับเป็นช่วงเวลา 270 ปีแห่งความเชี่ยวชาญ ความคิดสร้างสรรค์ และผลงานการรังสรรค์นาฬิกา มรดกอันล้ำค่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างประเพณีและนวัตกรรมที่รวมถึงนาฬิกาและกลไกต่างๆ มากมาย ซึ่งจารึกความโดดเด่นเฉพาะตัวมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละยุคสมัย
ความเป็นเลิศที่เหนือกว่า
นอกเหนือจากการบอกเวลา Vacheron Constantin มุ่งมั่นที่จะผสมผสานประเพณีอันงดงามเหนือกาลเวลาเข้ากับนวัตกรรมล้ำสมัย และผนวกรวมความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนาฬิกาเข้ากับการออกแบบอันประณีต โรงงานผลิตของเราใช้เวลา 270 ปีในการพัฒนางานฝีมือให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกาทุกเรือนจะเป็นผลงานชิ้นเอก

270 ปีแห่ง BELLE HAUTE HORLOGERIE
ลายกิโยเช่ถือเป็นองค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ของแนวคิดด้านการออกแบบของเมซงเสมอมา
นาฬิกาพกจากปี 1780 นี้คือผลงานชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดในคอลเลคชั่นส่วนตัวของเมซงที่ใช้เทคนิคอันประณีตบนหน้าปัดและตัวเรือน
นาฬิกาพกเยลโลว์โกลด์แกะสลักลายกิโยเช่ หน้าปัดสีเงินที่ได้รับการประทับตราพร้อมลวดลายกิโยเช่ ปี 1780

270 ปีแห่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
นาฬิกาที่มีเสียงบอกเวลานี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 18 โดยผสมผสานกลศาสตร์เข้ากับเสียงดนตรีเพื่อบอกเวลาในที่มืด เรือนเวลาเหล่านี้ถือเป็นมรดกสำคัญของ Vacheron Constantin
นาฬิกาพกพร้อมฟังก์ชั่นบอกเวลาทุก 15 นาทีนี้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของ Vacheron Constantin ในการรังสรรค์นาฬิกาที่ซับซ้อนและงานฝีมือชั้นเยี่ยม โดดเด่นด้วยหน้าปัดตกแต่งลายกิโยเช่ที่สอดคล้องกับความซับซ้อนของกลไกของชิ้นงาน
นาฬิกาพกพิงค์โกลด์ลายกิโยเช่พร้อมฟังก์ชั่นบอกเวลาทุก 15 นาที หน้าปัดสีเงินขัดเงาลายกิโยเช่ ปี 1817

270 ปีแห่งงานหัตถศิลป์
Vacheron Constantin ทุ่มเทความใส่ใจให้กับงานฝีมือที่เปี่ยมด้วยศิลปะมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้เพื่อนำเสนอเรือนเวลาที่มีทั้งความงดงามในรูปลักษณ์และไร้ที่ติในด้านเทคนิค
นาฬิกาพกแบบฮันเตอร์เป็นการแสดงถึงทักษะของช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญในศิลปะด้านการแกะสลัก กิโยเช่ การเคลือบลงยา หรือการประดับอัญมณี
นาฬิกาพกแบบฮันเตอร์เยลโลว์โกลด์แกะสลัก หน้าปัดสีเงินแกะสลักลายกิโยเช่ ปี 1819

270 ปีแห่งความเชี่ยวชาญทางเทคนิค
นาฬิกาพกที่มีฟังก์ชั่นบอกวันที่ในครั้งแรกนั้นย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อตั้งเวิร์กช็อปของ Jean-Marc Vacheron ในปี 1755 ไม่กี่ทศวรรษต่อมา ความซับซ้อนของนาฬิกาก็ขยายขอบเขตออกไปภายใต้การนำของ Abraham Vacheron ลูกชายของ Jean-Marc
นาฬิกาพกปี 1824 นี้เป็นหนึ่งในรุ่นแรกๆ ที่มีเข็มบอกวันที่บนหน้าปัดลงยาสีขาว โดดเด่นด้วยตัวเลขอารบิก 12 ตัว พร้อมรางนาทีด้านนอก
นาฬิกาพกเยลโลว์โกลด์ลายกิโยเช่พร้อมปุ่มไขลาน หน้าปัดลงยา ปี 1824
ผู้ปกป้องงานหัตถศิลป์
ความเชี่ยวชาญด้านนาฬิกาของ Vacheron Constantin เติบโตขึ้นจากการพยายามแสวงหาความงดงามทางศิลปะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อตั้ง เมซงได้นำเอางานหัตถศิลป์และวิวัฒนาการของงานฝีมือเหล่านั้นมาผสมผสานกับเทรนด์การออกแบบและสไตล์ของแบรนด์ โดยผนึกรวมการฝังอัญมณี ลายกิโยเช่ การลงยาและการแกะสลักเข้าไว้ในดีเอ็นเอความคิดสร้างสรรค์ของเมซง

การลงยา
ทักษะฝีมือในการลงยาต้องใช้แปรงขนละเอียดในการปาดผงแก้วลงบนฐานโลหะ (ทองแดง เงิน หรือทอง) ชั้นบางๆ ของเม็ดสีเหล่านี้จะถูกเผาอย่างต่อเนื่องเพื่อยึดสีให้ติด ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ช่างทำนาฬิกาได้นำเทคนิคการลงยาต่างๆ มาใช้เพื่อรังสรรค์ผลงานศิลปะที่เปล่งประกาย แม้ว่าการลงยาจะเปราะบางต่อแรงกระแทก แต่ก็เป็นวัสดุที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย และสีสันสดใสที่ได้ก็ทำให้วิธีการนี้มีคุณประโยชน์อย่างมากในการประดับตกแต่งนาฬิกา
นาฬิกาพกที่มีเข็มแบบกระโดดในตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ พร้อมหน้าปัดสีเงินลงยาฌ็องเลเวลายกิโยเช่ ปี 1829

การแกะสลัก
แม้ว่าแต่เดิมการแกะสลักชิ้นงานนาฬิกาจะทำเพื่อลดแสงสะท้อน แต่งานศิลปะนี้ก็ช่วยให้สามารถตกแต่งทุกส่วนของนาฬิกาได้หลากหลายรูปแบบ โดยใช้เทคนิคการแกะสลักแบบนูนต่ำหรือแบบร่องลึกที่มีการลบมุมและขัดด้วยมือ การแกะสลักมักจะถูกผสมผสานกับงานหัตถศิลป์อื่นๆ เช่น การฝังอัญมณี ลายกิโยเช่ และการลงยา
ชิ้นงานจากปี 1922 นี้เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนที่สำคัญของนาฬิกาแกะสลักจากปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคทองของช่างแกะสลักอย่างแท้จริง ลวดลายแบบอาหรับของใบไม้ที่แกะเป็นลายเส้นบนฝาหลังและประดับขอบด้วยลายสลักลงยา
นาฬิกาพกเยลโลว์โกลด์แกะสลักและลงยา ปี 1922

งานกิโยเช่
งานกิโยเช่หรือลายประดับแบบไขว้เกี่ยวข้องกับการนำวัสดุออกเพื่อแกะสลักลวดลายที่ไม่เป็นรูปร่างและมักจะเป็นลวดลายซ้ำๆ ความสม่ำเสมอและเป็นนามธรรมของลวดลายเหล่านี้ทำให้กิโยเช่แตกต่างจากการแกะสลักที่เป็นรูปร่าง และยังคงผลิตด้วยมือโดยใช้เครื่องจักรพิเศษ ช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญด้านกิโยเช่ของ Vacheron Constantin ใช้เครื่องจักรโบราณซึ่งบางเครื่องมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 19
นาฬิกาเยลโลว์โกลด์รุ่นนี้มีรูปลักษณ์แบบคลาสสิกด้วยหน้าปัดสีดำตกแต่งลายกิโยเช่อันประณีตและขอบตัวเรือนแบบไร้มุมสองชั้น
นาฬิกาเยลโลว์โกลด์ หน้าปัดสีดำลายกิโยเช่ ปี 1953

การประดับอัญมณี
การประดับอัญมณีเกี่ยวข้องกับการเจาะฐานลงในวัสดุรองรับ ปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับอัญมณีที่ต้องการวางและยึดให้เข้าที่ เทคนิคการประดับอัญมณี ได้แก่ การฝังลูกปัด การฝังบนขอบตัวเรือน การฝังหนามเตย การฝังสอด การฝังแบบเกล็ดหิมะ และการฝังแบบไร้หนามซึ่งแตกต่างกันไปตามความสวยงามที่ต้องการ
นาฬิกาประดับอัญมณีสำหรับ ‘ชุดราตรี’ ขอบตัวเรือนประดับด้วยเพชรเจียระไนทรงบริลเลียนท์ 18 เม็ดและทรงมาร์คีส์ 10 เม็ดในลวดลายดอกไม้อันงดงาม และสายนาฬิกาแบบบางประดับด้วยเพชรเจียระไนทรงบริลเลียนท์ 40 เม็ด
นาฬิกาไวท์โกลด์ประดับอัญมณีพร้อมสายนาฬิกาแบบข้อต่อและหน้าปัดไวท์โกลด์สีเงินซันเบิร์ส ปี 1964
จิตวิญญาณแห่งการบุกเบิกที่เปิดรับไอเดียหลากหลาย
เมซงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อนำวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ และประเพณีที่หลากหลายมาใช้ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจในระดับสากล แนวทางที่เปิดกว้างนี้สะท้อนให้เห็นในนาฬิกาที่แสดงถึงเทรนด์ของสไตล์หลัก ตลอดจนเทคนิคเฉพาะของศิลปะการตกแต่งและประวัติศาสตร์ของศิลปะเหล่านั้นในทวีปต่างๆ

วิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์
Vacheron Constantin ได้แสดงถึงการเปิดสู่โลกกว้างและความหลากหลายผ่านการรังสรรค์นาฬิกาที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษอย่างมีศิลปะ
นาฬิกาประดับอัญมณีที่เร้นลับเรือนนี้ออกแบบให้เป็นจี้ โดยเป็นหนึ่งในรุ่นหายากของคอลเลคชั่น ‘ตัวด้วง’ จาก Vacheron Constantin ปีกทั้งสองลงยาสีดำและเขียว ประดับด้วยเพชรทรงกลีบดอกไม้ เปิดออกเพื่อเผยให้เห็นหน้าปัดลงยาสีขาว โดยมีการแกะลายและแกะสลักที่ขยายไปยังกรอบตัวเรือนที่ประกอบเป็นลำตัวของแมลง
นาฬิกาจี้ประดับรูป 'ตัวด้วง’ ทำจากเยลโลว์โกลด์ ลงยา ประดับด้วยเพชรและทับทิม หน้าปัดลงยา ปี 1910

การเดินทางของศิลปะแห่งการรังสรรค์เรือนเวลา
หลักปรัชญาที่เมซงยึดมั่นช่วยให้ช่างฝีมือที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ แนวทางปฏิบัติด้านศิลปะ และวัฒนธรรมได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ
เรือนเวลารุ่นนี้รังสรรค์ขึ้นในปี 1921 โดยความร่วมมือกับ Verger Frères การตกแต่งในสไตล์อาร์ตเดโคโดดเด่นด้วยลงยาแบบกรองด์ เฟอเป็นภาพเทพเจ้ามีปีกขี่ราชรถที่ล้อมรอบด้วยลายสลักกรีกคีย์บนพื้นหลังสีเปลือกไข่
นาฬิกาพกเยลโลว์โกลด์ทรงแปดเหลี่ยม หน้าปัดสีเงิน ปี 1921

รสนิยมในการเดินทาง
ช่วงยุค Roaring Twenties ได้นำเอาความต้องการสำหรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เรือเดินทะเลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและจุดหมายปลายทางที่แปลกใหม่ถือเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหล นาฬิกาสำหรับเดินทางกลายเป็นสิ่งที่ต้องมีและ Vacheron Constantin ก็พร้อมแล้วที่จะรับมือกับความท้าทายนี้
นาฬิการุ่นนี้ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตในสไตล์อาร์ตเดโค และเป็นตัวอย่างของนาฬิกาคลาสสิกรุ่น 'Surprise' ที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเดินทาง เมซงร่วมมือกับ Verger Frères ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งนาฬิกา ผลลัพธ์ที่ได้คือนาฬิกาที่เพรียวบางเป็นพิเศษพร้อมกลไก 9’’’94 ที่ได้รับการปกป้องด้วยตัวเรือนที่มีฝาปิดแบบเลื่อนได้ (บานเกล็ด) ซึ่งเรียกกันเล่นๆ ว่า "La Captive”
นาฬิกาตั้งโต๊ะเยลโลว์โกลด์และไวท์โกลด์ พร้อมหน้าปัดสีเงิน ปี 1929

ความมุ่งมั่นในศิลปะและวัฒนธรรม
คอลเลคชั่น ‘Métiers d'Art’ แสดงถึงความผูกพันของ Vacheron Constantin ที่มีต่อศิลปะและวัฒนธรรมทั่วโลก ตลอดจนประวัติศาสตร์ข้ามพรมแดน
นาฬิกาซีรีส์นี้เป็นการเชิดชูศิลปะญี่ปุ่นอันเก่าแก่ที่เรียกว่า 'มากิ-อิ’ (Maki-e) เป็นการโรยผงทองหรือผงเงินบนพื้นหลังแล็คเกอร์สีดำเพื่อสร้างลวดลายดั้งเดิม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนมาก คอลเลคชั่นนี้ผลิตขึ้นเป็น 3 ซีรีส์ระหว่างปี 2010 ถึง 2014 โดยซีรีส์ล่าสุดมุ่งเน้นที่ความงามตามธรรมชาติของฤดูกาลโดยเฉพาะ
นาฬิกา Métiers d'Art - La symbolique des laques - "Hanami Tsukimi Yukimi" ไวท์โกลด์ หน้าปัดฉลุลายเคลือบแลคเกอร์มากิ-อิ ปี 2014
ผู้นำระดับแนวหน้าด้านการผลิตนาฬิกา
Vacheron Constantin ขับเคลื่อนด้วยภารกิจในการแสวงหาความเที่ยงตรงและก้าวข้ามขีดจำกัดของความซับซ้อนในการผลิตนาฬิกามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่าสองศตวรรษ เมซงได้สำรวจทุกแง่มุมของการผลิตนาฬิกา ตั้งแต่เรกูเลเตอร์ทูร์บิญงไปจนถึงระบบแสดงทางดาราศาสตร์ ตั้งแต่นาฬิกาที่มีเสียงเตือนไปจนถึงนาฬิกาจับเวลา

ดาราศาสตร์
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นาฬิการุ่น Grand Complication กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักสะสม Vacheron Constantin เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไม่กี่รายที่มีเวิร์กช็อปสำหรับผลิตนาฬิกาพกที่มีความซับซ้อนสูงและทำตามคำสั่งซื้อ นับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคทองแห่งการผลิตนาฬิกา
ในช่วงเวลานี้เองที่เมซงได้ผลิตนาฬิกาที่โดดเด่น เช่น นาฬิกาแบบฮันเตอร์ที่มี Monopusher Chronograph พร้อมกับสเกลทาคีมิเตอร์ ปฏิทินดาราศาสตร์แบบถาวร และกลไกมินิท รีพีทเตอร์
นาฬิกาพกพิงค์โกลด์แบบฮันเตอร์พร้อมกลไกมินิท รีพีทเตอร์ ระบบโครโนกราฟ และปฏิทินถาวร หน้าปัดลงยา ปี 1901

โครโนมิเตอร์
จากชื่อเสียงด้านโครโนเมทรีที่ได้รับรางวัลมากมายด้านการผลิตนาฬิกา เมซงได้ตัดสินใจเปิดตัวนาฬิกาสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันรุ่นนี้
นาฬิการุ่น Chronomètre Royal ถือกำเนิดขึ้นในปี 1907 เมื่อเมซงได้เปิดตัวนาฬิกาพกที่มีความแม่นยำสูงนี้และใช้ชื่อรุ่นเป็นเครื่องหมายการค้า แต่เดิมนั้นนาฬิการุ่นแรกๆ ออกแบบมาเพื่อต้านทานต่อข้อจำกัดด้านสภาพอากาศในอเมริกาใต้ โดยมีตัวเรือนที่แข็งแกร่งและกันน้ำได้ เพื่อปกป้องกลไกจากฝุ่นละอองและความชื้น
นาฬิกาพก “Chronomètre Royal" เยลโลว์โกลด์ หน้าปัดลงยา ปี 1907

นาฬิกาที่มีเสียงบอกเวลา
นาฬิกาที่มีกลไกมินิท รีพีทเตอร์ถือเป็นนาฬิกาชั้นยอดในโลกแห่งการผลิตนาฬิกา โดยใช้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านกลไกและดนตรีเพื่อให้เสียงที่ชัดเจนและแม่นยำ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 Vacheron Constantin ได้รังสรรค์นาฬิการุ่นต่างๆ ที่ใช้กลไกนี้แต่มีความซับซ้อนที่ท้าทายความสามารถ โดยมักจะมีข้อจำกัดเพิ่มเติมคือมีความบางเป็นพิเศษ
นาฬิกาแพลทินัมขนาด 37 มม. นี้เป็นผลงานชิ้นเอกที่ผสมผสานรูปทรงอันสง่างามเข้ากับคาลิเบอร์ 13’’’ JMV ที่นิ่มนวลและก้องกังวานซึ่งมีความหนาเพียง 3.25 มม.
นาฬิกาแพลทินัมกลไกมินิท รีพีทเตอร์ หน้าปัดสีเงิน ปี 1955

นาฬิกาทรงแบนพิเศษ
โดยทั่วไปแล้วความบางเป็นพิเศษจะไม่ถือเป็นความซับซ้อนในตัวมันเอง เนื่องจากไม่มีฟังก์ชันเพิ่มเติมใดๆ อย่างไรก็ตาม ความบางก็ถือเป็นความซับซ้อนในระดับหนึ่ง ศตวรรษที่ 20 ถือเป็นยุคทองของนาฬิกาที่บางเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาข้อมือได้รับความนิยม
รุ่นบางเป็นพิเศษนี้เป็นรุ่นเดียวกับนาฬิกาพกที่นักสะสมชาวอิตาลีเรียกกันเล่นๆ ว่า “Disco Volante" นาฬิการุ่นนี้โดดเด่นด้วยตัวเรือนที่ลาดเอียงที่รู้จักกันในรูปแบบ “กลางตัวเรือนแบบขอบใบมีด” ออกแบบมาเพื่อเน้นรูปร่างที่เพรียวบางซึ่งขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ 1003
นาฬิกาพกเยลโลว์โกลด์ "Disco Volante” หน้าปัดสีทองซันเบิร์สต์ ปี 1959

โครโนกราฟ
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ความต้องการนาฬิกาที่สามารถวัดระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างแม่นยำซึ่งเดิมใช้สำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ได้วิวัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับอิทธิพลจากการบิน การทหาร และการแข่งขันกีฬา Vacheron Constantin ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในวิวัฒนาการดังกล่าว โดยเปิดตัวโครโนกราฟรุ่นแรกในปี 1874
โครโนกราฟระบบ bicompax นี้มีหน้าปัดสีเงินพร้อมสเกลทาคีมิเตอร์และเทเลมิเตอร์ซึ่งโดดเด่นด้วยสัดส่วนที่สมดุลและความสมมาตรที่สมบูรณ์แบบ นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมคาลิเบอร์ 492 ซึ่งเป็นกลไกแบบคอลัมน์วีลที่มีชื่อเสียงในด้านความน่าเชื่อถือและความแม่นยำ
นาฬิกาโครโนกราฟเยลโลว์โกลด์ หน้าปัดสีเงินปัดเงาซาตินซันเบิร์สต์ ปี 1967

การแสดงข้อมูลแบบพิเศษ
การแสวงหาเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและสุนทรียศาสตร์ของเมซงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการทดลองใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด Vacheron Constantin เริ่มออกแบบนาฬิกาพกที่มีหน้าปัดแบบเข็มกระโดดในต้นศตวรรษที่ 19 จุดเด่นคือ "แบบชนิดช่องแสดง" ซึ่งระบุชั่วโมงผ่านจานที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยหน่วยของเวลาจะเคลื่อนไปทีละน้อย ต่อมาได้มีการพัฒนานาฬิกาที่มีหน้าปัดแบบเรโทรเกรด ซึ่งชื่อนี้สืบเนื่องมาจากตัวระบุเวลาที่จะเคลื่อนกลับหลังจากแสดงผลจนถึงจุดสุดท้ายแทนที่จะหมุนรอบหน้าปัด
ระบบคอมพลิเคชันแบบ “เข็มกระโดด” อาจถูกจับคู่กับหน้าปัดแสดงนาทีแบบ “มิสทีเรียส” เช่นเดียวกับรุ่น 43040 ที่ผลิตในปี 1995 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากนาฬิกาในยุค 1920
นาฬิกาข้อมือระบบเข็มชั่วโมงแบบเข็มกระโดดพร้อมหน้าปัดแสดงนาทีแบบมิสทีเรียส ทำจากแพลตินัม หน้าปัดกิโยเช่สีเงิน ปี 1995

ทูร์บิญง
กลไกทูร์บิญงซึ่งพัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 18 เป็นโซลูชันที่มีคุณค่าอย่างมากสำหรับนาฬิกาพก ซึ่งผู้ใช้มักติดในแนวตั้งในกระเป๋าในตอนกลางวันและวางไว้บนโต๊ะในแนวนอนในตอนกลางคืน นาฬิการุ่นนี้ใช้แคริเอจที่บรรจุชิ้นส่วนสำคัญ 2 ชิ้นของนาฬิกาแบบกลไก ได้แก่ ฟันเฟืองและบาลานซ์สปริง แคริเอจที่หมุนรอบแกนทำหน้าที่เป็นวงล้อที่สี่ (วินาที) เพื่อชดเชยการดึงของแรงโน้มถ่วงบนบาลานซ์วีล
สองศตวรรษต่อมา Vacheron Constantin ได้นำรูปทรงตอนโนของคอลเลคชั่น 'Malte' มาใช้คู่กับกลไกดังกล่าว จะเห็นได้ว่านาฬิกาแพลทินัมรุ่นนี้มาพร้อมกับหน้าปัดแซฟไฟร์ที่เผยให้เห็นกลไกอันซับซ้อนของสเกเลตันที่ตกแต่งอย่างพิถีพิถัน
นาฬิกาทูร์บิญงสเกเลตันทรงตอนโนรุ่น Malte ทำจากแพลตินัม กลไกแกะสลัก ส่วนแสดงการสํารองพลังงาน ปี 2014
The Quest
ในปี 1755 ณ กรุงเจนีวา คุณ Jean-Marc Vacheron ได้เริ่มต้นปฐมบทแห่งเรื่องราวที่ได้ก้าวขึ้นสู่การผจญภัยเหนือธรรมดาของมนุษย์ นั่นคือการแสวงหาความเป็นเลิศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ